ผู้วิจัย: นายอนุพงษ์ ชุมแวงวาปี
สถานที่ทำงาน: โรงเรียนยิ่งยวดพิทยานุกูล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุดรธานี
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัย
โรงเรียนยิ่งยวดพิทยานุกูล เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก มีภารกิจหลัก คือ จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนด แต่จากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในทุกปีที่ผ่านมามีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าระดับประเทศ ต่ำกว่าระดับจังหวัด และต่ำกว่าระดับสังกัดทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ นอกจากนี้จากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รอบสาม ให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ไว้ว่า ผู้เรียนขาดความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร สถานศึกษาควรมีการนิเทศติดตามโครงการกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีความต่อเนื่อง การส่งเสริมให้คณะครูใช้สื่อประกอบการจัดการเรียนการสอน ทั้งสื่อเพื่อให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ด้านการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ประเมินความก้าวหน้าของตนเอง และนำมาใช้ปรับปรุงพัฒนาตนเอง ครูไม่ได้นำผลการประเมินมาใช้ในการสอนซ่อมเสริมและปรับปรุงการเรียนการสอน รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อนวัตกรรมการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง
จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องชี้ให้เห็นจุดเด่นของการใช้กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เป็นกลยุทธ์ในการปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ที่สำคัญโดยเฉพาะปฏิรูปการศึกษาสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันที่สอดคล้องกับแนวคิดการชี้แนะและ การเป็นพี่เลี้ยง ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยจึงได้พัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพร่วมกับการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน การชี้แนะและการเป็นพี่เลี้ยง เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนยิ่งยวดพิทยานุกูล เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป
วัตถุประสงค์การวิจัย
1. เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ในการบริหารจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนยิ่งยวดพิทยานุกูล
2. เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพร่วมกับ การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน การชี้แนะและการเป็นพี่เลี้ยง เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนยิ่งยวดพิทยานุกูล
3. เพื่อประเมินประสิทธิผลของการใช้รูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพร่วมกับการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน การชี้แนะและการเป็นพี่เลี้ยงเพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนยิ่งยวดพิทยานุกูล
วิธีดำเนินการวิจัย
แบบแผนการวิจัย
ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยและพัฒนา (Research and Development)
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากร ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน ครูผู้สอนทั้งหมดทุกคน จำนวน 14 คน นักเรียนทั้งหมดทุกคนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวน 66 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 66 คน ของโรงเรียนยิ่งยวดพิทยานุกูล อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี ในปีการศึกษา 2563
กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน โดยกำหนดเกณฑ์ในการเลือกไว้ดังนี้ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ มีประสบการณ์ด้านการบริหารการศึกษาและสถานศึกษา และมีความเต็มใจให้ความคิดเห็นในเรื่องที่ทำวิจัย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน (ไม่นับรวมผู้วิจัยและตัวแทนครูผู้สอน) ครูผู้สอนทั้งหมดทุกคน จำนวน 14 คน นักเรียนทั้งหมดทุกคนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวน 66 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 66 คน ซึ่งได้มาด้วยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 2 ชุด ชุดแรกเป็นรูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพร่วมกับการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน การชี้แนะและการเป็นพี่เลี้ยง เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนยิ่งยวดพิทยานุกูล ชุดที่สองเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ในการบริหารจัดการเรียนรู้ แบบสอบถามเกี่ยวกับคุณภาพผู้เรียน ในด้านผลการเรียนรู้ ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และด้านทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และแบบประเมินความพึงพอใจ
การเก็บรวบรวมข้อมูล
ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ในการบริหารจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนยิ่งยวดพิทยานุกูล โดยวิธีการสอบถามด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 14 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน (ไม่นับรวมผู้วิจัยและตัวแทนครู) รวมจำนวนทั้งหมด 21 คน
ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบฯ จากผลการสังเคราะห์แนวคิด ทฤษฎี เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับผลการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ฯ ในระยะที่ 1 แล้วนำร่างรูปแบบเสนอต่อผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน ได้ประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการนำรูปแบบไปใช้โดยใช้แบบประเมินรูปแบบ
ระยะที่ 3 การประเมินประสิทธิผลของการใช้รูปแบบฯ โดยนำรูปแบบในระยะที่ 2 ไปทดลองใช้จริงและประเมินประสิทธิผลของการใช้รูปแบบ โดยใช้แบบแผนการทดลองแบบกลุ่มเดียววัดสองครั้ง (One Group Pretest – Posttest Design) เวลาที่ใช้ในการดำเนินการทดลอง ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ใช้เวลา 20 สัปดาห์ การประเมินประสิทธิผลของรูปแบบด้วยการเปรียบเทียบคุณภาพผู้เรียนระหว่างก่อนกับหลังการใช้รูปแบบจากการตอบแบบสอบถามของผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 14 คน นักเรียน จำนวน 66 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 66 คน รวมจำนวนทั้งหมด 146 คน และการประเมินระดับความพึงพอใจต่อรูปแบบของผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน (ไม่นับรวมผู้วิจัยและตัวแทนครูผู้สอน) และครูผู้สอน จำนวน 14 คน รวมจำนวนทั้งหมด 21 คน
การวิเคราะห์ข้อมูล
1. ค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ การหาค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) ของสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการนำรูปแบบไปใช้ การเปรียบเทียบคุณภาพผู้เรียนก่อนกับหลังการใช้รูปแบบ และความพึงพอใจต่อรูปแบบ
2. การวิเคราะห์ความต้องการจำเป็นและจัดลำดับความต้องการ เป็นการประเมินผลต่าง (Gap Analysis) ของสภาพที่เป็นจริงในปัจจุบันกับสภาพที่พึงประสงค์ แล้วนำมาเรียงลำดับความต้องการจำเป็น โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ค่าดัชนีความต้องการจำเป็น Modified Priority Need Index (PNI)
สรุปผลการวิจัย
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบัน และสภาพที่พึงประสงค์ในการบริหารจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนยิ่งยิ่งยวดพิทยานุกูล ดังนี้
1.1 สภาพปัจจุบันในการบริหารจัดการเรียนรู้ โดยรวมอยู่ในระดับมาก
1.2 สภาพที่พึงประสงค์ในการบริหารจัดการเรียนรู้ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
1.3 ความต้องการจำเป็นและจัดลำดับความต้องการ เมื่อพิจารณาค่าดัชนีของความต้องการจำเป็นในการบริหารจัดการเรียนรู้ โดยรวมเท่ากับ 0.36 เรียงลำดับ ดังนี้ ด้านการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกแบบร่วมมือมีความต้องการจำเป็นเป็นลำดับแรก รองลงมา คือ ด้านการพัฒนาการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ด้านการพัฒนาการนิเทศการจัดการเรียนรู้ ด้านการสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียน ด้านการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และด้านนโยบายและเป้าหมายร่วม ตามลำดับ
2. ผลการพัฒนารูปแบบฯ โดยรูปแบบมีองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) กระบวนการดำเนินงาน มี 6 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 นโยบายและเป้าหมายร่วม ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ขั้นตอนที่ 3 การสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียน ขั้นตอนที่ 4 การพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกแบบร่วมมือ ขั้นตอนที่ 5 การพัฒนาการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และขั้นตอนที่ 6 การพัฒนาการนิเทศการจัดการเรียนรู้ และ 4) การวัดและประเมินผล และรูปแบบมีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการนำไปใช้โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการประเมินประสิทธิผลของการใช้รูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพร่วมกับการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน การชี้แนะและการเป็นพี่เลี้ยง เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนยิ่งยวดพิทยานุกูล ดังนี้
ยิ่งยวดพิทยานุกูล ดังนี้
3.1 การเปรียบเทียบคุณภาพผู้เรียนระหว่างก่อนกับหลังการใช้รูปแบบ พบว่า ค่าเฉลี่ยของคุณภาพผู้เรียน หลังการใช้รูปแบบสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบ
3.2 การประเมินระดับความพึงพอใจต่อรูปแบบ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
คุณชอบนวัตกรรมนี้แค่ไหน
กดดาวเพื่อให้คะแนน
ค่าเฉลี่ย 4.9 / 5. จำนวนคะแนน 105
ให้คะแนนเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้สร้างนวัตกรรม