ผู้วิจัย: นางสาวจรรยาภรณ์ โชคชัยฐานนันท์
สถานที่ทำงาน: โรงเรียนหอวัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานครเขต 2
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัย
การเห็นคุณค่าในตนเองของเด็กและเยาวชนเปรียบเสมือนพลังที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ด้วยความมั่นใจ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถปรับตัวในการดำรงชีวิตให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นตัวกระตุ้นที่นำไปสู่พฤติกรรมที่เหมาะสมทั้งในด้านสติปัญญา ทักษะและความสามารถในด้านต่าง ๆ ซึ่งบุคคลจะสามารถพัฒนาทักษะทางสังคมได้จากประสบการณ์และการฝึกฝนอบรมที่เกิดขึ้นจากวงจรชีวิตประจำวันในสังคม ดังนั้นบุคคลที่เห็นคุณค่าในตนเอง รู้ว่าตนเองมีคุณค่ามักจะประเมินตนเองในด้านดี มีความมุ่งมั่น ใฝ่รู้ใฝ่เรียน พยายามที่จะทำงานให้สำเร็จ มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น ไม่เหยียบย่ำความรู้สึกของผู้อื่นให้ตกต่ำลง มีบุคลิกลักษณะและสุขภาพจิตที่ดี ในทางตรงกันข้ามถ้าบุคคลใดขาดการเห็นคุณค่าในตนเองก็จะเป็นคนที่ชอบโยนความผิดของตัวเองไปให้คนอื่น หาความผิดพลาดของผู้อื่น ต้องการความเอาใจใส่และได้รับการยอมรับจากคนอื่นสูง บุคคลประเภทนี้มักทำทุกวิถีทางและ ใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะทำให้ตนชนะ เป็นคนซึมเศร้าสิ้นหวังในชีวิต เห็นแก่ตัวและมีความต้องการทางด้านวัตถุสูง ไม่ชอบตัดสินใจ ชอบผลัดวันประกันพรุ่ง พึ่งพิงผู้อื่นอยู่เสมอ ชอบคุยโอ้อวดเกินจริง มีความรู้สึกว่าไม่มีใครสนใจ ไม่ได้รับการยอมรับ หรือทำอะไรแล้วไม่ประสบความสำเร็จ จนทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า ดังนั้นความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองที่แตกต่างกันจึงมีผลต่อความรู้สึกหรือพฤติกรรมที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล (Newman. 1986: 281-286) ซึ่งจากการศึกษาผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ พบว่า การเห็นคุณค่าในตนเองส่งผลต่อพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ของวัยรุ่น ดังที่คูเปอร์สมิท (Coopersmith. 1984: 5) กล่าวว่า การเห็นคุณค่าในตนเองแสดงให้เห็นถึงขอบเขตความเชื่อของบุคคลที่มีต่อตนเองในด้านความสามารถ ความสำคัญ ความสำเร็จและความมีคุณค่าในตนเอง รวมถึงการรับรู้จากการประเมินของบุคคลอื่นที่มีต่อตัวเอง กล่าวคือเมื่อเห็นคุณค่าของตนย่อมไม่เอาสิ่งที่ไม่ดีมาทำลายตนเอง
จากเหตุดังกล่าวผู้วิจัยจึงพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ GUIDE Model ที่มีต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง ในรายวิชาแนะแนวของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนหอวัง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียน ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมได้เรียนรู้และรู้จักแก้ปัญหา เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และอารมณ์ซึ่งกันและกัน รวมถึงพัฒนาตนเองตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งการจัดการเรียนดังกล่าวครูเปิดโอกาสให้นักเรียนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น ในสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ผ่อนคลาย จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมนักเรียนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา ยอมรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในกลุ่ม และยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเองช่วยให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม สร้างความรู้สึกใกล้ชิดและได้รับการยอมรับ อันเป็นการพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลที่นำไปสู่ความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในตนเองมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้นักเรียนมีความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถเผชิญปัญหา คิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง เพราะการเห็นคุณค่าในตนเองทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง มองโลกในแง่ดี ไม่ทำอะไรที่เบียดเบียนตนเอง ไม่กระทำพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเข้าสู่อบายมุขต่าง ๆ ซึ่งเป็นการทำลายตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้วเราต้องรักตัวเอง คิดถึงสุขภาพกายและสุขภาพใจ และพร้อมที่จะเรียนรู้ พัฒนา ต่อยอดตนเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
วัตถุประสงค์การวิจัย
1. เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ GUIDE Model ที่มีต่อการเห็นคุณค่าในตนเองในรายวิชาแนะแนวของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนหอวัง
2. เพื่อศึกษาผลการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ GUIDE Model ที่มีต่อการเห็นคุณค่าในตนเองในรายวิชาแนะแนวของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนหอวัง
3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ GUIDE Model ในรายวิชาแนะแนวของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนหอวัง
วิธีดำเนินการวิจัย
แบบแผนการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยเชิงทดลอง โดยใช้แบบแบบแผนการวิจัยแบบ One Group Pretest Posttest Design ดังตารางต่อไปนี้
ตารางแบบแผนการวิจัยแบบ Pretest Posttest Control Group Design
กลุ่ม | สอบก่อน | ทดลอง | สอบหลัง |
E | T1 | X | T2 |
ความหมายของสัญลักษณ์
E คือ กลุ่มตัวอย่าง
T1 คือ การทดสอบก่อนการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน
X คือ การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ GUIDE Model ที่มีต่อการเห็นคุณค่าในตนเองในรายวิชาแนะแนวของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
โรงเรียนหอวัง
T2 คือ การทดสอบหลังการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนหอวัง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 จำนวน 15 ห้องเรียน จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 643 คน
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนหอวัง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 โดยใช้การสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) จำนวน 4 ห้องเรียน จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 170 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยใช้เครื่องมือ ดังนี้
1. แผนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ GUIDE Model ที่มีต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง ในรายวิชาแนะแนวของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 4 คาบ
2. แบบสอบถามการเห็นคุณค่าในตนเอง มีค่าความเชื่อมั่น (Reliability) เท่ากับ .91
3. แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ GUIDE Model ในรายวิชาแนะแนวของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนหอวัง มีค่าความเชื่อมั่น (Reliability) เท่ากับ .81
การเก็บรวบรวมข้อมูล
การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองโดยปฏิบัติ ดังนี้
1. ผู้วิจัยใช้การสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง
2. ดำเนินการทดสอบก่อนเรียนโดยใช้แบบสอบถามการเห็นคุณค่าในตนเอง ฉบับละ 50 ข้อ ไปให้นักเรียนทำการตอบแบบสอบถาม จำนวน 170 คน
3. ดำเนินการทดลองสอนตามแผนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ GUIDE Model ที่มีต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง ในรายวิชาแนะแนวของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนหอวัง
4. ดำเนินการทดสอบหลังเรียนโดยใช้แบบสอบถามการเห็นคุณค่าในตนเอง ฉบับละ 50 ข้อ ไปให้นักเรียนทำการตอบแบบสอบถาม จำนวน 170 คน
5. นำแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ GUIDE Model ในรายวิชาแนะแนวของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนหอวัง ฉบับละ 12 ข้อ ไปให้นักเรียนทำการตอบแบบสอบถาม จำนวน 170 คน
6. นำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดไปวิเคราะห์โดยใช้ระเบียบวิธีทางสถิติ
การวิเคราะห์ข้อมูล
1. สถิติพื้นฐานที่ใช้ในการวิจัย
1.1 ค่าคะแนนเฉลี่ย (Mean)
1.2 ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
2. สถิติที่ใช้วิเคราะห์คุณภาพเครื่องมือ
2.1 หาค่าอำนาจจำแนกรายข้อ (Item Discrimination) ของแบบสอบถาม โดยใช้เทคนิค t-test เทคนิค 25 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มสูง-กลุ่มต่ำ
2.2 หาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม โดยใช้การหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา (α-Coefficient) ของ ครอนบาค (Cronbach)
3. สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
ทดสอบความแตกต่างของคะแนนการเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียนก่อนและหลังการทดลองโดยใช้ t-test แบบไม่เป็นอิสระต่อกัน (t-test for dependent Samples)
สรุปผลการวิจัย
1. การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ GUIDE Model ที่มีต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง ในรายวิชาแนะแนวของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนหอวัง มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ โดยมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
2. นักเรียนที่เรียนโดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ GUIDE Model ในรายวิชาแนะแนวของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนหอวัง มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ GUIDE Model ในรายวิชาแนะแนวของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนหอวัง ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านบุคลิกภาพของครูผู้สอน และด้านการวัดประเมินผลอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนความพึงพอใจต่อด้านเนื้อหาหลักสูตรอยู่ในระดับมาก
คุณชอบนวัตกรรมนี้แค่ไหน
กดดาวเพื่อให้คะแนน
ค่าเฉลี่ย 4.6 / 5. จำนวนคะแนน 27
ให้คะแนนเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้สร้างนวัตกรรม