ผู้วิจัย: นายวิทวัส นิดสูงเนิน (ผู้วิจัยหลัก)
นางสาวชื่นกมล คงหอม (ผู้ร่วมวิจัย)
สถานที่ทำงาน: โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัย
การเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม และจริยธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 จัดทำเป็นสาระพื้นฐานปรับให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคมภูมิปัญญาท้องถิ่นการดำเนินชีวิตในสังคมด้านศาสนา ศีลธรรม และจริยธรรม สำหรับการจัดการเรียนการสอนให้เข้าใจถึงพระธรรมคำสอนของพระศาสดา ผู้ศึกษาได้ริเริ่มจัดทำแผนจัดการเรียนรู้ เรื่องพระธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาบังคับเรียนสาระพื้นฐาน ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ทางครูผู้สอนได้สอนตามหนังสือของสำนักพิมพ์ต่างๆ แต่หนังสือเหล่านั้นยังไม่ครอบคลุมครบสาระการเรียนรู้แกนกลาง และมีกิจกรรมในการพัฒนาน้อยเกินไปนักเรียนไม่สนใจเท่าที่ควรทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด
ทั้งนี้พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหลักที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานและเป็นสภาพแวดล้อมที่ครอบคลุมสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ด้วยสภาพสังคมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเทคโนโลยีและวัตถุนิยมที่เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะวัยของนักเรียนซึ่งเป็นเยาวชน ก็มีสิ่งเย้ายวนต่างๆ ผ่านเข้ามาในชีวิตอยู่ไม่น้อย จึงจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข และเติบโตเป็นบุคคลที่พร้อมด้วยความรู้ ความสามารถ เป็นคนดี มีคุณธรรม และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีภูมิคุ้มกันที่จะช่วยให้เยาวชนพร้อมด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ก็คือ ศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ การเรียนรู้พระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้เยาวชนเห็นคุณค่าและตระหนักในความสำคัญของพระพุทธศาสนา อันจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองตลอดจนได้มีโอกาสเรียนรู้หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่ายิ่ง เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต (วิทย์ วิศทเวทย์ และเสถียรพงษ์ วรรณปก, 2553 : คำนำ)
สำหรับการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิด โดยศึกษาจากการวิเคราะห์วิธีการและแนวทางที่บุคคลต่าง ๆ แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ในสังคม รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์ ในการเรียนรู้จะต้องส่งเสริมให้นักเรียนตระหนักว่าการใช้ความคิด สามารถแก้ปัญหาได้ โดยครูผู้สอนจะต้องมีการเตรียมตัว ให้มีความรู้กว้างขวางลึกซึ้งและความรู้ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาและที่สำคัญรู้จักสอนหลากหลายรูปแบบเพื่อนำไปสู่การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เช่น การใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้วัฏแบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้น (5E)
โดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้น (5E) ร่วมกับคำถามเชิงวิเคราะห์เนื่องจากธรรมชาติของเนื้อหาหน่วยการเรียนรู้พระธรรม มีความเป็นนามธรรม หากผู้เรียนไม่ฝึกกระบวนการคิดก็จะทำใหผู้เรียนไม่สามารถสรุปมโนทัศน์ ในเรื่องนี้ได้โดยการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้น (5E) เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนตลอดเวลากระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจต่อเรื่องที่เรียน ให้ผู้เรียนได้ฝึกถาม-ตอบ ฝึกสื่อสาร ฝึกนำเสนอ ฝึกวิเคราะห์และสร้างองค์ความรู้ (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), 2546) ซึ่งการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้น (5E) สามารถทำให้นักเรียนเกิดมโนทัศน์และมีทักษะการคิดในการจัดการเรียนรู้
จากเหตุผลดังกล่าว จากความสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ หน่วยการเรียนรู้พระ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งยังประสบปัญหาดังกล่าวแล้ว ดังนั้นผู้ศึกษาจึงต้องการวิจัยเรื่อง การพัฒนาผลการจัดการเรียนรู้ หน่วยการเรียนรู้พระธรรม โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยการสืบเสาะหาความรู้ (5E) เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลการจัดการเรียนรู้ หน่วยการเรียนรู้พระธรรม ได้อย่างมีคุณภาพต่อไป
วัตถุประสงค์การวิจัย
1. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน หน่วยการเรียนรู้พระธรรม ของนักเรียนที่เรียนโดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยการสืบเสาะหาความรู้ (5E) เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
2. เพื่อเปรียบเทียบทักษะการคิดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากการจัดการเรียนรู้ หน่วยการเรียนรู้พระธรรม โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ ด้วยการสืบเสาะหาความรู้ (5E) เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด กับเกณฑ์การประเมินร้อยละ 70
3. เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีการจัดการเรียนรู้ด้วยการสืบเสาะหาความรู้ (5E) เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด หน่วยการเรียนรู้พระธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
วิธีดำเนินการวิจัย
แบบแผนการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง ซึ่งผู้ศึกษาจะดำเนินการทดลองตามแบบแผนการวิจัยแบบ One – Group Pretest – Posttest Design
สอบก่อน | ทดลอง | สอบหลัง |
T1 | X | T2 |
สัญลักษณ์ที่ใช้ในแบบแผนการทดลอง
T1 แทน สอบก่อน
T2 แทน สอบหลัง
X แทน วิธีการจัดการเรียนรู้
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากรได้แก่ นักเรียนที่เรียนรายวิชาสังคมศึกษา 2 (ส21103) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 จำนวน 14 ห้องเรียน นักเรียนทั้งหมด 612 คน (โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต, 2563 : 15)
กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/5 จำนวน 45 คน โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 ได้โดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
- แผนการจัดการเรียนรู้ หน่วยการเรียนรู้พระธรรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
- แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน หน่วยการเรียนรู้พระธรรม แบบปรนัยเลือกตอบ 4 ตัวเลือก แผนละ 10 ข้อ
- แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หน่วยการเรียนรู้พระธรรม วิชา ส21101 สังคมศึกษา 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นแบบปรนัยชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ
- แบบทดสอบวัดทักษะการคิด หน่วยการเรียนรู้พระธรรม เป็นแบบอัตนัย (เขียนตอบ) จำนวน 3 ข้อ
- แบบสอบถามความพึงพอใจการจัดการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 10 ข้อ
การเก็บรวบรวมข้อมูล
1. นำแบบทดสอบก่อนเรียนไปทดสอบก่อนเรียน (Pretest) ของหน่วยการเรียนรู้พระธรรม วิชา ส21101 สังคมศึกษา 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เพื่อวัดความรู้พื้นฐานของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 40 ข้อ
2. ให้นักเรียนเรียนตามแผนการจัดการเรียนรู้หน่วยการเรียนรู้พระธรรม วิชา ส21101 สังคมศึกษา 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ผู้ศึกษาได้สร้างขึ้น
3. ทำแบบฝึกทบทวนหรือใบงานระหว่างเรียนประจำหน่วยการเรียนย่อย
4. ทำแบบทดสอบหลังเรียน (Post-test) โดยกระทำทันทีเมื่อสิ้นสุดการเรียน โดยใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของหน่วยการเรียนรู้พระธรรม วิชา ส21101 สังคมศึกษา 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต เพื่อวัดความรู้พื้นฐานของกลุ่มตัวอย่าง ชุดเดียวกันกับการทดสอบก่อนเรียน จำนวน 40 ข้อ
5. ประเมินความพึงพอใจในการเรียนโดยให้นักเรียนทำแบบสอบถามความพึงพอใจในการจัดการเรียนรู้
6. นำข้อมูลที่ได้จากการทดลองไปทำการวิเคราะห์เพื่อสรุปผลการศึกษาต่อไป
การวิเคราะห์ข้อมูล
1. การวิเคราะห์หาคุณภาพเครื่องมือ วิเคราะห์ดังนี้1.1 หาค่าความยากง่ายและค่าอำนาจจำแนกของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
1.1 หาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
1.2 หาค่าอำนาจจำแนกและค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามวัดความพึงพอใจ
2. การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ศึกษาใช้วิธีการคำนวณ วิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้
2.1 หาค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
2.2 หาค่าเฉลี่ยของคะแนนประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ของผู้เชี่ยวชาญ
2.3 หาค่าเฉลี่ยของคะแนนประเมินความพึงพอใจในการเรียน เทียบกับเกณฑ์แปลความหมาย
2.4 วิเคราะห์หาประสิทธิภาพแผนการจัดการเรียนรู้ เพื่อหาข้อบกพร่องของบทเรียน
2.5 วิเคราะห์หาความแตกต่างของคะแนนทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้ t-test
สรุปผลการวิจัย
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) หน่วยการเรียนรู้พระธรรม วิชา ส21101 สังคมศึกษา 1 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
2. ผลการวิเคราะห์ทักษะการคิดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หน่วยการเรียนรู้พระธรรม วิชา ส21101 สังคมศึกษา 1 ซึ่งผลการทดสอบก่อนเรียนมีค่าเฉลี่ย (x̄) เท่ากับ 13.16 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ 2.05 ส่วนหลังเรียนมีค่าเฉลี่ย (x̄) เท่ากับ 24.96 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ 1.66 ซึ่งจะพบว่าหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) ที่ส่งเสริมทักษะการคิด หน่วยการเรียนรู้พระธรรม วิชา ส21101 สังคมศึกษา 1 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄ = 4.72, S.D. = 0.18)
คุณชอบนวัตกรรมนี้แค่ไหน
กดดาวเพื่อให้คะแนน
ค่าเฉลี่ย 4.6 / 5. จำนวนคะแนน 12
ให้คะแนนเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้สร้างนวัตกรรม